top of page
Search

โรคหัวใจเต้นผิดปกติ (Cardiac Arrhythmia)

Updated: Oct 18, 2022

หัวใจเต้นผิดปกติเป็นอย่างไร


ในขณะนั่งพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60-80 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วประมาณ 80-100 ครั้งต่อนาทีและมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง


หัวใจเต้นผิดปกติคือ ภาวะที่หัวใจมีอัตราการเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติไม่เหมาะสมกับสภาพของร่างกายในขณะนั้น ซึ่งอาจมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติร่วมด้วย


หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเป็นความผิดปกติในอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น เต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป หรืออาจเป็นความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้


หัวใจเต้นผิดปกติมีกี่ชนิด


หัวใจเต้นผิดปกติไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกลการเกิด สาเหตุการเกิด อาการ วิธีการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรคผิดปกติ 2 แบบใหญ่ คือ

  1. หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradyarrhythmia)

  2. หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachyarrhythmia)

หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการอย่างไร


ถ้าผู้ป่วยมีหัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการเด่นที่สำคัญ คือร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ถ้าเป็นน้อยก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเหนื่อย แม้ในขณะพัก ถ้าเต้นช้าขั้นรุนแรงจะมีอาการหน้ามืด วูบหมดสติหรือเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้น


ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง ในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจอ่อนกำลังอยู่เดิม อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว หมดสติหรือเสียชีวิตได้


ในกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักจะเกิดจากการที่มีจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจนอกเหนือจากจุดกำหนดไฟฟ้าปกติของหัวใจ(SA node) ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาเป็นครั้งคราวไม่สัมพันธ์กับกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจาก SA node ทำให้รบกวนจังหวะการเต้นปกติของหัวใจ เกิดการเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้น


สาเหตุของหัวใจเต้นผิดปกติ

สาเหตุของหัวใจเต้นผิดปกติแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

  1. ความผิดปกติภายนอกหัวใจ เช่น ภาวะต่อมธัยรอยด์เป็นพิษทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติ การใช้ยาลดความดันบางชนิดที่มีฤทธิ์ในการลดอัตราการเต้นของหัวใจในขนาดมากเกินไปทำให้หัวใจเต้นช้า ในกรณีที่มีสาเหตุอยู่นอกหัวใจ วิธีการรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุ

  2. ความผิดปกติที่เกิดจากหัวใจเอง แบ่งย่อยเป็น

2.1 ความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจโดยที่ไม่มีความผิดปกติของหัวใจชนิดอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมของไฟฟ้าหัวใจทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วผิดปกติชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคไหลตาย (Brugada syndrome), Long QT syndrome เป็นต้น หรืออาจเป็นหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเนื่องจากสายไฟฟ้าในหัวใจลัดวงจรชนิด Wolff-Parkinson-White syndrome การรักษาในกลุ่มนี้มุ่งไปที่การรักษาความผิดปกติของไฟฟ้าในหัวใจเท่านั้น

2.2 ความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจโดยที่มีความผิดปกติของหัวใจส่วนอื่นร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน การรักษาในกลุ่มนี้มุ่งรักษาทั้งความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจร่วมกับความผิดปกติชนิดอื่นของหัวใจร่วมด้วยจึงจะได้ผลดี


จะรักษาหัวใจเต้นผิดปกติอย่างไร

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นหัวใจเต้นผิดปกติมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไปดังนี้

  1. หัวใจเต้นช้าผิดปกติ แก้ไขได้โดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  2. หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

2.1 ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติขั้นรุนแรง และสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเฉียบพลันยังสามารถแก้ไขได้โดยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ

2.2 ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติไม่รุนแรงยังสามารถรักษาด้วย

2.2.1 การใช้ยาต้านการเต้นผิดปกติ (antiarrhythmic agent)

2.2.2 การจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (radiofrequency ablation)


การรักษาด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นวิทยุเป็นอย่างไร


การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาแนวใหม่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วใน 10 ปี ที่ผ่านมา สามารถรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะเกือบทุกชนิดให้หายขาดได้ โดยไม่ต้องทานยาตลอดชีวิต


ในอดีตการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เฉพาะในรายที่รักษาด้วยการใช้ยาแล้วไม่ได้ผลหรือได้ผลดีแต่มีผลข้างเคียงจากกการรักษาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากได้ผลดีหายขาด มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ


การรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือ เป็นการรักษาคล้ายการผ่าตัดเล็กจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1-2 วัน ค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหัวใจเต้นผิดจังหวะและมีเครื่องมือที่ทันสมัย อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความคุ้มทุนของการรักษาในระยะยาวเมื่อเทียบกับการใช้ยา

1,587 views0 comments

Recent Posts

See All

หัวใจวาย หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

โดย นพ.ยุทธชัย มาตระกูล หัวใจวาย หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลันและขัดขวางการไหลขอ...

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)

โดย นพ.ยุทธชัย มาตระกูล หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) คือ ภาวะที่มีการก่อกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ หรือมีการนำสัญญาไฟฟ้าภายในห้อง...

Comments


bottom of page